บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นปิโตรเลียมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแบบครบวงจร (Integrated) ประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและอะโรเมติกส์ที่ ศรีราชา เครือข่ายคลังน้ำมัน สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อการค้า “บางจาก”

บริษัทเป็นเจ้าของและผู้ประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันแบบ Complex Refinery ซึ่งมีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบ 174,000 บาร์เรลต่อวัน มีถังเก็บน้ำมันสำเร็จรูปรวมกันกว่า 100 ถัง โรงงานอะโรเมติกส์ (Aromatics Plant) มีกำลังการผลิตพาราไซลีน 500,000 ตันต่อปี และหน่วยผลิตสารทำละลายซึ่งมีกำลังการผลิต 50,000 ตันต่อปี โดยโรงงานแต่ละแห่งได้เชื่อมโยงเข้ากับหน่วยกลั่นน้ำมัน และกระบวนการกลั่นน้ำมันแบบครบวงจร รวมทั้งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแก่ผู้บริโภครายย่อยผ่านทางเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันค้าปลีก ภายใต้ชื่อการค้า “บางจาก” และจำหน่ายตรงให้แก่ลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมการค้า การบิน และการเดินเรือ

ณ เดือนธันวาคม 2566

อัตราการผลิตเฉลี่ย

บาร์เรล ต่อวัน

รายได้

ล้านบาท

สถานีบริการน้ำมัน

สถานี (ทั่วประเทศ)

บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน)

โรงกลั่นแบบ Complex Refinery มีอัตราการผลิตเฉลี่ย 118,300 บาร์เรลต่อวัน
เครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน 830 สถานี ทั่วประเทศ
ค่าการกลั่นพื้นฐาน 3.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ 7,990 ล้านลิตร

เหตุการณ์สำคัญ

พัฒนาการที่สำคัญที่ผ่านมาของบริษัท สามารถสรุปโดยสังเขปได้ดังนี้

พ.ศ. 2539

  • บริษัทได้จดทะเบียนแปรสภาพจากบริษัทเอกชนจำกัด เป็นบริษัทมหาชนจำกัด โดยใช้ชื่อว่า บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2539
  • บริษัทฯ ได้ก่อสร้างหน่วยผลิตยางมะตอยน้ำ ในบริเวณคลังศรีราชาแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม 2539

พ.ศ. 2540

ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 คลังศรีราชาได้รับใบรับรองมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9002 ในด้านกระบวนการผลิต การติดตั้งและบริการผลิตภัณฑ์ยางมะตอยจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สมอ.)

พ.ศ. 2541

  • พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราครุฑแก่บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
  • เริ่มการก่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ในบริเวณโรงกลั่นน้ำมันศรีราชา

พ.ศ. 2547

บริษัท ได้เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตวัตถุดิบไซลีน (Xylene Feedstock) ของบริษัทฯ ด้วยการแปลงหน่วย Powerformer ที่ไม่ได้ใช้งานให้เป็นหน่วยผลิตวัตถุดิบพาราไซลีน หน่วยผลิตนี้ใช้ปฏิกิริยาทรานส์อัลคีเลชั่น (Transalkylation) เพื่อไปทำการปรับปรุงสารอะโรเมติกส์หนัก และสารเบนซีน (Benzene) ให้เป็นวัตถุดิบไซลีน โดยมีกำลังการผลิตเทียบเท่าพาราไซลีน ประมาณปีละ 120,000 ตัน

พ.ศ. 2551

บริษัทออกหุ้นสามัญ เสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยหุ้นของบริษัทฯ เริ่มมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2556

พ.ศ. 2554

บริษัท ได้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ณ โรงกลั่นศรีราชา เพื่อลดปริมาณกำมะถันและสารเบนซีนในน้ำมันเบนซิน และลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลเป็นที่เรียบร้อยภายในวันที่ 1 มกราคม 2555 ตามมาตรฐานและภายในเวลาที่รัฐบาลกำหนด

พ.ศ. 2562

โรงกลั่นน้ำมันศรีราชาและโรงงานปิโตรเคมีปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่สำเร็จลุล่วงตามแผนงาน

พ.ศ. 2564

บริษัทฯ ได้หยุดผลิตสารพาราไซลีนจากโรงงานอะโรเมติกส์ ณ โรงกลั่นน้ำมันศรีราชาเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 โดยบริษัทฯ ยังคงผลิตและจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปและสารละลายเคมีภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อจำหน่ายในตลาดตามปกติ บริษัทฯ จะทำการประเมินสภาวะตลาดและการผลิตพาราไซลีนเป็นระยะ

พ.ศ. 2566

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เข้าถือหุ้นด้วยสัดส่วน 76.34% ทำให้บริษัทฯ มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) ตามมติทีประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566