มีข้อสงสัยอยู่บ่อยครั้งว่า เมื่อราคาขายของน้ำมันสำเร็จรูปหน้าสถานีบริการน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่ทำไมค่าการกลั่นจึงไม่ได้เพิ่มตามขึ้นด้วย อีกทั้งในบางครั้งค่าการกลั่นก็อาจกลับเป็นติดลบแทน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะค่าการกลั่นเป็น “ผลต่าง” ระหว่างราคาขายกับต้นทุนของการกลั่นน้ำมัน โดยราคาซื้อน้ำมันดิบเป็นต้นทุนในการกลั่นน้ำมัน ส่วนราคาขายหน้าโรงกลั่นของน้ำมันสำเร็จรูปชนิดต่างๆ ก็คือรายได้จากการกลั่นน้ำมัน ดังนั้น ค่าการกลั่นจึงมีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทั้ง 2 ประการ ไม่ใช่ขึ้นกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปแต่เพียงอย่างเดียว

ราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูป ไม่จำเป็นว่าจะต้องเพิ่มขึ้นหรือลดลงใน “อัตราส่วน” ที่เท่ากันเสมอไป ถ้าหากราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้นในอัตราส่วนที่ “มากกว่า” การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งหมายความว่า รายได้จะมากกว่าต้นทุนของการกลั่นน้ำมัน และส่งผลให้ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น แต่หากว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้นในอัตราส่วนที่ “น้อยกว่า” การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ค่าการกลั่นก็จะลดลง ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นก็ตาม

สำหรับสาเหตุที่ทำให้อัตราส่วนการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาน้ำมันดิบ กับราคาน้ำมันสำเร็จรูปไม่เท่ากันนั้น ก็เนื่องมาจากกลไกตลาดเสรีในการกำหนดราคาที่แตกต่างกัน ซึ่งจะแยกอธิบายเพิ่มเติมดังนี้

โดยทั่วไป ราคาน้ำมันดิบจะถูกกำหนดจากความต้องการใช้น้ำมันดิบของโรงกลั่นน้ำมันต่างๆ ทั่วโลก กับความสามารถในการผลิตน้ำมันดิบของประเทศและผู้ค้าน้ำมันดิบทั้งหมด ในบางช่วงเวลาที่ปริมาณของน้ำมันดิบที่ต้องการใช้มี “มากกว่า” น้ำมันดิบที่สามารถผลิตออกมาได้ จะเกิดภาวะน้ำมันดิบขาดแคลน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น ดังเช่น เหตุการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จนมีผลทำให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบบางราย เช่น ลิเบีย ไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้เช่นเคย ในทางกลับกัน หากความต้องการใช้น้ำมันดิบมีปริมาณ “น้อยกว่า” น้ำมันดิบที่ผลิตออกมาได้ ก็จะเกิดภาวะน้ำมันดิบล้นตลาด ซึ่งมีผลทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลง ดังเช่น วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกา ช่วงปี 2552 ที่ฉุดให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ รวมไปถึงความต้องการใช้พลังงานที่ลดลงอย่างมาก

ในส่วนของราคาน้ำมันสำเร็จรูปก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่จะถูกกำหนดจากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูป กับกำลังการผลิตน้ำมันโดยรวมของโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศ หรือภูมิภาคใกล้เคียง โดยที่กำลังการผลิตจะลดลง เมื่อต้องปิดโรงกลั่นหรือบางหน่วยผลิต ด้วยเหตุฉุกเฉินหรือเพื่อซ่อมบำรุง และจะเพิ่มขึ้น เมื่อสร้างหน่วยผลิตหรือโรงกลั่นใหม่ขึ้นมา ส่วนความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้น้ำมันแต่ละชนิดในภาคธุรกิจที่แตกต่างแยกย่อยกันไป อย่างเช่น น้ำมันเบนซินใช้ในรถส่วนบุคคล น้ำมันดีเซลใช้ในภาคธุรกิจการขนส่ง หรือน้ำมันเตาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปโดยรวมจะปรับตัวสูงขึ้นหรือลดลง จึงขึ้นอยู่กับผลรวมของการปรับตัวของราคาน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิดตามกลไกตลาดในแต่ละภาคธุรกิจที่ไม่เหมือนกัน

โดยปกติของธุรกิจการกลั่นน้ำมันจะต้องมีการสั่งซื้อน้ำมันดิบล่วงหน้าประมาณ 1-2 เดือน เนื่องจากต้องเผื่อเวลาในการขนส่งน้ำมันดิบ การกลั่นน้ำมัน และการจัดส่งน้ำมันสำเร็จรูปไปยังสถานีบริการน้ำมันหรือให้กับลูกค้าโดยตรง นอกจากนี้ กฎหมายของประเทศก็ยังกำหนดให้โรงกลั่นน้ำมันต้องเก็บสำรองน้ำมันดิบไม่น้อยกว่า 4% ของยอดผลิต และเก็บสำรองน้ำมันสำเร็จรูปไม่น้อยกว่า 1% ของยอดขาย (อัตรานี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน ณ วันที่ 13 เมษายน 2563) ดังนั้น น้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้ในตอนนี้ จึงเป็นการเอาน้ำมันดิบจาก “สต๊อก” ซึ่งซื้อมาเก็บไว้ล่วงหน้าแล้วมากลั่น ผลต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบที่ซื้อมาจริงก่อนหน้านี้ เปรียบเทียบกับราคาน้ำมันดิบถ้าซื้อในตอนนี้ ก็คือ กำไรหรือขาดทุนสต๊อกน้ำมัน

ในภาวะที่ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น ต้นทุนการกลั่นจากสต๊อกน้ำมันดิบที่ซื้อมาเก็บไว้ล่วงหน้าซึ่งมีราคาถูกกว่า ทำให้โรงกลั่นน้ำมันมีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน และส่งผลให้ค่าการกลั่นโดยรวมสูงขึ้นด้วย ในทางกลับกัน หากราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง สต๊อกน้ำมันดิบที่เอามาใช้ในการกลั่นซึ่งซื้อมาก่อนหน้านี้ในราคาที่แพงกว่า ก็จะทำให้ค่าการกลั่นน้อยหรือติดลบ เพราะมีการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน

ตัวอย่างเช่นในปี 2551 ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ โดยราคาน้ำมันดิบดูไบต่อบาร์เรลตอนต้นปีที่ 90 เหรียญสหรัฐอเมริกา ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 140 เหรียญในเดือนกรกฎาคม ทำให้ในครึ่งปีแรกมีกำไรสต๊อกน้ำมัน และค่าการกลั่นที่สูงขึ้น แต่หลังจากนั้น กลับเกิดวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบให้ราคาน้ำมันดิบดูไบดิ่งลงอย่างรวดเร็วจนแตะที่ระดับ 40 เหรียญตอนสิ้นปี ทำให้ค่าการกลั่นในครึ่งปีหลังถึงกับติดลบ เพราะขาดทุนสต๊อกน้ำมันอย่างมาก เมื่อรวมผลประกอบการทั้งปี กำไรสต๊อกน้ำมันในครึ่งปีแรกก็ช่วยหักกลบทำให้ขาดทุนสต๊อกน้ำมันลดน้อยลง และค่าการกลั่นก็ติดลบน้อยลงไปด้วย

ถึงแม้ว่าการขึ้นหรือลงของราคาน้ำมันจะทำให้เกิดกำไรหรือขาดทุนสต๊อกน้ำมัน บริษัทฯ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งบริษัทฯ ไม่สามารถจะควบคุมราคาน้ำมันเองได้ โดยราคาน้ำมันดิบจะมีการขึ้นลงตามตลาดโดยเสรี และมองว่าในระยะยาวกำไรหรือขาดทุนสต๊อกน้ำมันจะหักกลบกันไปเอง หรือมีผลไม่มากนัก บริษัทฯ จึงบริหารจัดเก็บสต๊อกน้ำมันเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสต๊อกน้อยที่สุด

นอกจากนี้ บริษัทฯ ไม่มีนโยบายในการทำธุรกรรมเพื่อประกันความเสี่ยง (เฮดจิ้ง) ของราคาน้ำมันดิบหรือส่วนต่างแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็เพราะการทำเฮดจิ้งแบบนี้เป็นการตัดสินใจด้วยการคาดเดาบนสมมติฐานของราคา ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการทำเพิ่มขึ้นอีกด้วย

น้ำมันเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดหนึ่ง (Commodities) ซี่งมีการแข่งขันสูง การเปลี่ยนราคาหรือนโยบายการผลิตและการขายของผู้ค้าน้ำมันรายหนึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดน้ำมัน จึงทำให้ผู้ค้าน้ำมันต้องปรับราคาให้สามารถแข่งขันกันได้ ดังนั้น ราคาน้ำมันที่เหมาะสมเพื่อใช้ “อ้างอิง” จึงควรจะกำหนดมาจากความต้องการและความสามารถในการผลิต ภายใต้กลไกระบบการค้าเสรีของกลุ่มตลาดซื้อขายน้ำมันที่อยู่ใกล้เคียงกัน คล้ายกับสินค้าทางการเกษตร อย่างเช่น ราคาผลไม้ซึ่งอ้างอิงราคาที่ตลาดไท หรือราคาข้าวซึ่งอ้างอิงราคาที่ท่าข้าวกำนันทรง เป็นต้น

สำหรับศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันของโลกกระจายอยู่ใน 3 ภูมิภาค ก็คือ อเมริกา ยุโรป และเอเชีย โดยที่ตลาดกลางการซื้อขายน้ำมันของภูมิภาคเอเชียตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งคำว่า “ราคาสิงคโปร์” นั้นไม่ใช่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ประกาศโดยรัฐบาลหรือโรงกลั่นของประเทศสิงคโปร์ แต่เป็นราคาซื้อขายน้ำมันระหว่างผู้ค้าน้ำมันในภูมิภาคเอเชียที่ตกลงกันผ่านตลาดกลางฯ ที่ประเทศสิงคโปร์

ประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชีย และตั้งอยู่ใกล้กับประเทศสิงคโปร์ จึงเลือกที่จะอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดกลางฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งสะท้อนระดับราคาที่สมดุลกับกลไกระบบการค้าเสรีของตลาดในภูมิภาคนี้ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของราคาก็สอดคล้องอย่างเป็นสากลกับตลาดซื้อขายน้ำมันอื่นๆ ทั่วโลก

การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยขึ้นเอง แทนที่จะอ้างอิงราคาจากตลาดกลางฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ อาจจะทำให้เกิดภาวะความไม่สมดุลในการผลิตและความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศ เพราะหากว่าราคาน้ำมันที่กำหนดขึ้นเองในประเทศมีราคาถูกกว่าตลาดกลางฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ ก็จะทำให้ผู้ค้าน้ำมันส่งน้ำมันสำเร็จรูปออกไปขายเพื่อทำกำไร ซึ่งมีผลให้ประเทศขาดแคลนน้ำมัน ในทางกลับกัน หากราคาน้ำมันที่กำหนดขึ้นเองในประเทศมีราคาแพงกว่าตลาดกลางฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้ค้าน้ำมันก็จะนำน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาขายแข่ง ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันภายในประเทศและการจ้างงาน

นอกจากนี้ การอ้างอิงราคาจากตลาดกลางฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ จะทำให้โรงกลั่นภายในประเทศต้องพัฒนาศักยภาพและปรับปรุงการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนการกลั่นน้ำมันให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นอื่นๆ ในภูมิภาคหรือของโลกอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้บริโภค และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

โดยปกติ ถ้าราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศก็จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงตามขึ้นด้วย ยกเว้นแต่จะมีมาตรการแทรกแซงเพื่อควบคุมราคาน้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศจากภาครัฐ ทำให้ราคาขายต่ำกว่าความเป็นจริง อย่างเช่น การจ่ายเงินชดเชยให้กับน้ำมันไบโอดีเซล เพื่อให้ขายในราคา 30 บาทต่อลิตรในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554

อย่างไรก็ตาม นอกจากราคาน้ำมันดิบแล้ว ก็ยังมีส่วนประกอบอย่างอื่นที่ทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ซึ่งอธิบายด้วยโครงสร้างของราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการน้ำมันภายในประเทศได้ดังนี้

ราคาขายปลีก = ราคาขายส่ง (*) + ค่าการตลาด + ภาษีมูลค่าเพิ่ม

(*) ราคาขายส่ง = ราคาหน้าโรงกลั่น + เงินกองทุนฯ + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีเทศบาล + ภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับราคาหน้าโรงกลั่นจะอ้างอิงราคาจากตลาดกลางฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงปรับตัวขึ้นหรือลงตามกลไกระบบการค้าเสรีของตลาดในภูมิภาคเอเชีย นอกเหนือจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน, กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, รวมไปถึงภาษีประเภทต่างๆ จะถูกควบคุมและกำหนดอัตราจากหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ค้าน้ำมันภายในประเทศไม่สามารถจะตั้งราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปได้โดยเสรี ทั้งนี้ ผู้ค้าน้ำมันจะมีรายได้จากการขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปเฉพาะในส่วนของราคาหน้าโรงกลั่นรวมกับค่าการตลาดเท่านั้น ส่วนที่เหลือทั้งหมดต้องนำส่งเข้าเป็นรายได้ของภาครัฐ

จากโครงสร้างแสดงราคาขายปลีกด้วยข้อมูล ณ วันที่ 7 มีนาคม 2554 จะเห็นได้ว่า ราคาหน้าโรงกลั่นรวมกับค่าการตลาด (หรืออาจเรียกง่ายๆ ว่า ราคาขายพื้นฐานของน้ำมัน) คิดเป็นร้อยละ 60-70 ของราคาขายปลีก นั่นแสดงว่า ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินซื้อน้ำมันสำเร็จรูปที่สูงกว่าราคาขายพื้นฐานของน้ำมันถึงร้อยละ 30-40 เป็นค่าภาษีและเงินกองทุนฯ ต่างๆ

จากข้อมูลเดียวกัน ถ้าพิจารณาเฉพาะน้ำมันเบนซิน 95 ก็จะเห็นได้ชัดขึ้นว่า ผู้บริโภคจ่ายเงินซื้อน้ำมันเบนซินในราคา 41.24 บาทต่อลิตรนั้น เป็นการจ่ายเฉพาะค่าน้ำมันประมาณ 24 บาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 17 บาท ต้องจ่ายสำหรับค่าภาษีและเงินกองทุนฯ ต่างๆ ให้กับภาครัฐ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันสำเร็จรูปสูงกว่าราคาขายพื้นฐานของน้ำมันที่แท้จริง